ขุนศึก ทรานสปอร์ต
ศูนย์ฝึกขับรถบรรทุกจำลอง” (LoxSim Driving Simulation Center)
Simulator และ Simulation ที่เรานำเสนอในวันนี้คือเครื่องฝึกขับรถบรรทุกจำลอง ที่เรียกได้ว่าทันสมัยและสมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย ดำเนินการให้บริการโดยบริษัท ล็อกซเล่ย์ ซิมูเลชั่น เทคโนโลยี จำกัด (ล็อกซซิม)
เราเดินทางไปยังที่ตั้งของล็อกซซิมที่ย่านบางเขน เพื่อพูดคุยและสัมผัสกับเจ้าเครื่องฝึกขับรถบรรทุกรุ่น AS1600 รุ่นท็อป ที่ใช้หัวเก๋งของ Scania โดย Motion Platform ที่สามารถจำลองการเคลื่อนไหวได้เสมือนการขับรถบนถนนจริง
ล็อกซซิมได้เลือกใช้เทคโนโลยีจากบริษัท ออโต้ซิม (AutoSim) ผู้นำด้านซิมูเลเตอร์จากนอร์เวย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ และที่นี่ยังมีการพัฒนาหลักสูตรในการฝึกขับรถเพื่อความปลอดภัย ที่ใช้หลักมาตรฐานสากลเรื่องความปลอดภัยในการขับรถเชิงป้องกัน (Defensive Driving) และขับรถแบบประหยัดน้ำมัน (Eco-Driving)
นอกไปจากนั้นที่สำคัญคือผู้ใช้งานสามารถเลือกรูปแบบการฝึกได้ โดยทางทีมงานของล็อกซซิมสามารถออกแบบหลักสูตร และแบบฝึกหัดให้สอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้าได้ (เพื่อให้เหมาะกับแต่ละกิจการขนส่งของลูกค้า)
เมื่อพูดถึง Simulator (ซิมูเลเตอร์) หลายคนอาจจะนึกถึงเครื่องฝึกบินจำลองที่นักบินใช้ในการเรียนและฝึกขับเครื่องบิน ก่อนที่จะขึ้นบินจริง หรือแม้แต่การทบทวนฝึกบิน การทดสอบเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในการบินของนักบิน
Simulator (ซิมูเลเตอร์) สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ของล็อกซซิม เป็นแบบเดียวกัน ทำงานด้วยหลักการเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากตัวเครื่องบินมาเป็นรถบรรทุก เปลี่ยนจากการบินอยู่บนฟ้า Take off และ Landding มาเป็นขับเคลื่อนไปบนถนน ถอยเข้าจอดเทียบส่งสินค้า ขับรถอยู่ท่ามกลางฝนตกหนัก ขึ้นภูเขา และอื่นๆ ซึ่ง Simulator และ Simulation สามารถจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อฝึกให้คนขับสามารถบริหารจัดการ รับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นจริงก่อน ผ่านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และป้อนข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ จากนั้นใช้งานผ่าน Simulator
คุณพัชฌา ชุติมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และทีมงานของล็อกซซิมที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับตัวระบบการใช้งาน วิศวกรที่ออกแบบโปรแกรมการขับขี่ เข้าร่วมสนทนาให้ข้อมูลกับ Asian Trucker
งบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท จุดเด่นอยู่ที่เครื่องฝึกขับรถบรรทุกรุ่น AS1600 ที่พัฒนาโดยบริษัทออโต้ซิม ประเทศนอร์เวย์ เครื่องซิมูเลเตอร์เป็นหัวรถบรรทุกแบบ 6 DOF Motion Platform เคลื่อนไหวอิสระ 6 ทิศทาง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับ Simulator ฝึกนักบิน
Simulator (ซิมูเลเตอร์) ของทางล็อกซซิมสามารถจำลองเป็นรถบรรทุกสิบล้อ รถบรรทุกกึ่งพ่วง หรือ รถหัวลาก สามารถตั้งค่าเครื่องยนต์ได้หลากหลายตามสเปกที่มีใช้งานอยู่ในตลาด ระบบเกียร์ ระบบเบรก ABS ระบบรักษาการทรงตัว ESP จำลองการบรรทุกน้ำหนัก ชนิดของวัตถุที่บรรทุก ทั้งสิ่งที่เป็นของแข็ง ของเหลว ได้ตามความต้องการของลูกค้า กำหนดและปรับเปลี่ยนสถานการณ์ต่างๆ เช่น สภาพลมฟ้าอากาศ สภาพถนนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทยได้เบ็ดเสร็จ ทำให้ผู้เรียนสามารถฝึกขับรถบรรทุกในสถานการณ์ที่ฝึกขับจริงไม่ได้ อาทิ ถนนขณะที่มีพายุ ทางชันขึ้นภูเขา การเบรกกะทันหันในขณะที่บรรทุกของเต็มคัน การเข้าโค้งด้วยความเร็วที่แตกต่างกันกับลักษณะโค้งที่หลากหลาย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เรียนและเพิ่มทักษะ สามารถมีสติรับมือเมื่อเจอสถานการณ์จริงได้
เทคโนโลยี Simulation เป็นการทำงานด้วยตัว Hardware และ Sofeware ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตัวเครื่องมือนั้น ล็อกซซิมลงทุนด้วยการใช้รุ่นท็อปสุด ที่มาเป็นหัวเก๋งของรถจริง ตัวระบบ โปรแกรมในการฝึก การพัฒนาการขับขี่ใช้กันแพร่หลายในยุโรป ส่วนใหญ่ใช้ในงานวิจัย และ เพื่อพัฒนาทรัพยากรคนขับรถใน อุตสาหกรรมขนส่ง
Simulator วางอยู่บน Motion Platform แบบ 6 DOF สามารถจำลองการเคลื่อนที่ได้เสมือนการขับรถจริง รวมทั้งจำลองแรงสั่นสะเทือนต่างๆ จากการใช้งาน เครื่องมือจะทำงานผ่านโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นเฉพาะสำหรับ Simulator สร้างโจทย์ในรูปแบบต่างๆ ให้กับผู้ขับขี่ได้เผชิญหน้ากับสถาณการณ์อันตรายต่างๆ เพื่อปรับปรุง พัฒนาทักษะการขับขี่ โดยมีห้องควบคุมคอยติดตามดูผู้ใช้งานด้านในเครื่อง Simulator
คุณพัชฌา และ ทีมของล็อกซซิม อธิบายให้ฟังว่า Simulator ของล็อกซซิม 1 ชั่วโมงในการขับขี่ด้วย Simulator มีอัตราส่วนเท่ากับการขับรถบนถนนจริงประมาณ 3 ชั่วโมง สามารถจำลองรูปแบบของเกียร์ เครื่องยนต์ การบรรทุกน้ำหนักได้ทุกประเภท แบบปกติ แบบรถพ่วง
การอบรมการขับขี่ จะแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและปฎิบัติ เมื่อทำการขึ้นขับขี่ในตู้ Simulator จะมีทั้ง Instructor และ เจ้าหน้าที่ควบคุมระบบ คอยมอนิเตอร์อยู่ในห้องควบคุม โดยจะมีการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดในการทำแบบฝึกหัดต่างๆ แต่ละครั้งการใช้งานจะอยู่ที่ประมาณไม่เกินคนละสามนาทีต่อแบบฝึกหัด (เนื่องด้วยการมองจอนานๆ มีผลในการทำให้เกิดความเครียดทางด้านสายตา ซึ่งแต่ละคนจะมีผลแตกต่างกันไป) หลังจากผ่านการใช้เครื่องจะมีการประชุมสรุปถึงการฝึก โดยประเมินผลจากรูปแบบการขับและคะแนนต่างๆ ที่ได้จากการทำแบบทดสอบ
กลุ่มเป้าหมายของล็อกซซิมแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และ บริษัทเอกชน ในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้นเกี่ยวข้องกับคณะที่เปิดสอนในเรื่องของภาควิชาโลจิสติกส์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทำความเข้าใจถึงเรื่องการบริหารจัดการเรื่องยานพาหนะ ส่วนในภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทขนส่ง ตอนนี้เริ่มต้นกับบริษัทที่เป็นอินเตอร์ ซึ่งอยู่ในหมวดขนส่งวัตถุอันตราย โดยมีบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นลูกค้ารายแรกที่ติดต่อเข้ามา รวมถึงบริษัทขนส่งสินค้ารายย่อย และสมาคมต่างๆ ส่งพนักงานขับรถเข้ามาอบรมพัฒนาขีดความสามารถผ่านระบบ Simulator
คุณพัชฌา เล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มเมื่อพนักงานขับรถของ Shell รู้ว่าจะมีการฝึกการขับขี่ผ่านระบบ Simulator บางคนมีการต่อต้านทางความคิดเกิดขึ้นว่า การมาฝึกกับเกมส์จะได้ประโยชน์อะไร แต่เมื่อมาเห็นเครื่องมือ และ ได้เรียนรู้ ได้ผ่านกระบวนการจนจบคอร์สแรกทุกคนมีความคิดที่เปลี่ยนไป เมื่อได้กลับไปทำงานจริงและกลับมาเพิ่มเติมในครั้งที่สอง คนขับรถทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การฝึกผ่านระบบ Simulator ช่วยได้มากจริงๆ
เทคโนโลยี Simulator เป็นเครื่องมือที่มีความทันสมัยมาก ถูกใช้ในงานวิจัยเรื่องอุบัติเหตุในต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป เพื่อหาข้อมูลนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ การคิดเครื่องมือป้องกันอันตรายต่างๆ บนท้องถนนและยานยนต์ กิจการขนส่ง
แน่นอนว่าความใหม่ของเทคโนโลยีที่มาเต็มรูปแบบเช่นนี้กับแวดวงขนส่งในประเทศไทย ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้คนมีประสบการณ์ร่วมน้อยมาก แต่เมื่อได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ผ่านการได้ทดลองใช้งานกับตัว Simulator และกลับไปขับรถ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้จริง พนักงานขับรถทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่ได้มาเข้ารับการอบรมต่างยอมรับว่า ตัวโปรแกรมการเรียนรู้และการฝึกผ่านระบบ Simulator ช่วยให้เขาพัฒนาขีดความสามารถได้จริง ช่วยแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นได้ และที่สำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติเป็นเชิงบวกในการทำงานในสายอาชีพขับรถ จากทัศนคติที่เปลี่ยนไป ช่วยให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถของทีมคนขับรถ พัฒนาบริษัท และที่สำคัญทำให้ท้องถนนมีความปลอดภัยขึ้น
ช่วงแรกเริ่มในการทำธุรกิจของล็อกซซิม ย่อมเป็นห้วงเวลาที่ทีมงานต้องทำงานอย่างหนัก เพราะนี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับแวดวงขนส่งในประเทศไทย ทั้งกับผู้ประกอบการและคนขับรถ แต่ในส่วนของภาคการศึกษานั้นดูเหมือนจะเปิดกว้างกว่า เพราะการศึกษานั้นเป็นโลกแห่งการเรียนรู้ที่ต้องสัมผัสและเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งก้าวหน้าเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของ AI
เรื่องหลายเรื่องอาจมีการถกเถียงกัน คุณพัชฌากล่าว เช่นกรณีของการใส่น้ำหนักบรรทุก การจัดวางสินค้าที่ดีและไม่ดีเป็นอย่างไร ด้วยระบบ Simulator สามารถทำการทดสอบให้เห็นได้เลย เกิดเป็นงานวิจัย เป็นผลลัพธ์ สำหรับนำไปใช้งานจริงได้เลย ด้วยการทดสอบรูปแบบการวางสินค้าแบบต่างๆ ผ่านการเขียนโปรแกรมและทดลองใช้งานผ่าน Simulator
เป้าหมายของการให้บริการ
อันดับต้นๆ ล็อกซซิมต้องการอยากให้ท้องถนนเกิดความปลอดภัย ช่วยรักษาชีวิตของคนขับรถ พัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของอาชีพคนขับรถ พัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งทางถนนของไทยให้มีขีดความสามารถและมีความปลอดภัยสูงขึ้น เพราะการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งมีความเสียหายสูงมาก โดยเฉพาะหากเสียชีวิต เป็นสิ่งซึ่งประเมินค่าไม่ได้เลย
ทดลองใช้งาน
หลังจากสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เราได้รับการเชื้อเชิญให้ขึ้นลองขับรถบรรทุกผ่าน Simulator โดยมีบททดสอบสั้นๆ ให้ได้ลอง เมื่อขึ้นนั่งในที่นั่งคนขับ บนหัวเก๋งของสแกนเนีย ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังจะขับรถบนถนนจริง เพราะเราขึ้นไปนั่งอยู่บนหัวเก๋งของรถบรรทุกจริง พวงมาลัย อุปกรณ์ควบคุมต่างๆ คือของจริง เพียงแต่ทัศนวิสัยโดยรอบตัวเราคือบรรยากาศบนท้องถนน ที่เรามองผ่านจอมอนิเตอร์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านซ้ายขวา และด้านหน้า มีกระจกมองข้างเสมือนรถจริงทุกประการ เมื่อติดเครื่องยนต์เมีเสียงเครื่องยนต์จริงๆ ดังให้ได้รู้สึก ปลดเบรกมือ แตะคันเร่งรถเครื่องตัว เรารับรู้ได้ถึงการสั่นของหัวเก๋งเล็กน้อย เหมือนอาการรถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าจริงๆ น้ำหนักเท้าที่กดลงไปบนคันเร่ง ตอบสนองกับทิวทัศน์ที่เคลื่อนเข้ามาหาเรา
เมื่อแตะเบรก หักพวกมาลัย อาการต่างๆ เสมือนจริง เป็นไปตามการกระทำของผู้ขับขี่ การแตะเบรกเบาๆ หรือการเหยียบแบบฉุกเฉิน การยวบตัวของตัวรถรู้สึกเสมือนจริงทุกอย่าง แน่นอนว่าการขึ้นขับครั้งแรกอาจให้ความรู้สึกที่ไม่คุ้นชินอยู่บ้าง แต่เมื่อปรับตัวได้แล้วจะเริ่มคุ้นเคย และจะทำให้การฝึกปฎิบัติให้ผลที่ดีได้อย่างไม่ต้องสงสัย
ผ่านไปประมาณร่วมสามนาที เมื่อเป็นครั้งแรกเป็นธรรมดาที่ความไม่คุ้นเคยกับการมองภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบกราฟฟิกผ่านจอมอนิเตอร์ จะทำให้รู้สึกเหมือนมวนท้องเล็กน้อย แต่เมื่อปรับตัวได้อาการเหล่านี้จะหายไป ดังนั้นในคอร์สฝึกอบรมจริง จึงจะมีการทำ Pre-Drive เพื่อปรับสภาพร่างกายและสายตาของผู้ฝึกให้คุ้นชินกับ Simulator เสียก่อน
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จะมีส่วนช่วยอย่างมากกับอุตสาหกรรมขนส่งในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาเรื่องการขับขี่ แต่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วนั้นก็มีองค์ประกอบและปัจจัยหลายอย่าง แต่แน่นอนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีถ้าเราไม่ปรับตัวเรียนรู้ วันหนึ่งเราจะถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้อยู่ดี เพราะเทคโนโลยีจะต้องเข้ามาช่วยทำให้การทำงานของมนุษย์มีประสิทธิภาพขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
คุณพัชฌา บอกว่า การฝึกการขับขี่ด้วยระบบ Simulator สำหรับลูกค้า จะมีทั้งส่วนของภาคทฤษฎีและปฎิบัติด้วยการเข้าใช้งาน Simulator
จำนวนครั้งในการอบรม การใช้ Simulator จะแตกต่างไปตามรูปแบบ โปรแกรมการฝึกที่ลูกค้าเลือก ตัวโปรแกรมการฝึกนั้น จะเป็นการคุยกันกับลูกค้า ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าต้องการที่จะพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาด้านใดให้กับพนักงานขับรถ ต้องการปรับพฤติกรรมการขับขี่ที่ด้านใด หลังจากการคุยกันแล้วทางล็อกซซิมจะออกแบบโปรแกรมที่เหมาะสมกับการฝึกนั้น
ค่าใช้จ่ายหนึ่งคอร์สในการอบรม การฝึกด้วย Simulator อยู่ที่ประมาณแปดพันบาทต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการจัดอบรมและความต้องการของลูกค้า หากเป็น Workshop สามารถรับผู้เรียนสูงสุดได้ถึง 20-30 คน แต่ถ้าต้องการแบบ Premium เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผู้เรียนควรอยู่ที่ประมาณไม่เกินสิบคน ต่อหนึ่งคลาสเรียน ซึ่งนับว่าไม่แพง เทียบกับสิ่งที่ได้รับกลับมา