กรมเจ้าท่า เดินหน้าทดสอบความพร้อมเรือ The Blue Dolphin สร้างความเชื่อมั่นเส้นทางเดินเรือ
“สัตหีบ - สงขลา”
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่าการเดินทางและขนส่งทางเรือ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรทางบกติดขัด ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้า
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาอธิบดีกรมเจ้าท่าได้ลงพื้นที่ควบคุมทดสอบการเดินเรือ BLUE DOLPHIN ณ ท่าเรือบริษัท เซ้าท์เธิร์นโลจิสติกส์ จำกัด ร่องน้ำสงขลา จังหวัดสงขลา ไปยังท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อเตรียมพร้อมสร้างความเชื่อมั่นเส้นทางเดินเรือใหม่ให้ประชาชนผู้ใช้บริการ
กรมเจ้าท่าได้ร่วมมือกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ผลักดันให้เกิดโครงการเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดสงขลา เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการในด้านความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมสำหรับให้บริการจริงแก่ประชาชน
เรือ The Blue Dolphin หมายเลขทะเบียนเรือ 640000020 ขนาดความยาว 136.6 เมตร กว้าง 21 เมตร ขนาด 7003 ตันกรอสส์ สามารถบรรทุกรถ 10 ล้อ ได้ครั้งละ 80 คัน รถยนต์ส่วนบุคคลได้ 15-20 คัน คนประจำเรือ 30 คน บรรทุกคนโดยสารได้ 586 คน โดยสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 18-20 น็อต
กำหนดการทดสอบการเดินเรือออกจากท่าเทียบเรือบริษัท เซ้าท์เธิร์นโลจิสติกส์ จำกัด ปากร่องน้ำสงขลา เวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เดินทางถึงท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ด้วยความเรียบร้อย เวลาประมาณ 11.20 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2564ใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมง 20 นาที พร้อมนี้ได้ทดลองนำรถเทรลเลอร์ จำนวน 1 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 1 คัน เพื่อทดสอบความพร้อมของระบบการขนถ่ายรถฯ ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยอย่างสูงสุด
ปัจจุบันบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนจัดการฉุกเฉินระหว่างการเดินทางจากท่าเรือสงขลามายังสัตหีบ โดยวางแผนการดำเนินการให้สามารถติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีนำร่อง ปตท. กลางทะเล ศรชล. Port control Sriracha VTS สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา ได้ตลอดเส้นทางการเดินทาง และเมื่อแผนฯ แล้วเสร็จจะดำเนินการฝึกซ้อมการอพยพคนระหว่างการเดินทางอีกครั้ง
สำหรับเรือ The Blue Dolphin นอกจากมีแผนการเดินเรือในเส้นทางระหว่างจังหวัดชลบุรี-จังหวัดสงขลา ยังมีแผนจะขยายเส้นทางเชื่อมโยงเข้ากับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC เข้ากับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor, SEC ช่วยเพิ่มศักยภาพของการขนส่ง ทางน้ำ ลดต้นทุนและอุบัติเหตุจากการขนส่งทางบก และลดปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม โดยจะก่อให้เกิดโยชน์ทั้งในด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเล