นายสเตฟาน  ดอร์สกี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด เปิดเผยว่า “ตลาดรถบรรทุกและรถบัสโดยสารในปี 2017 โดยภาพรวมของตลาดมียอดการจดทะเบียนที่ลดลง แต่ในทางกลับกันการเติบโตของสแกนเนียในประเทศไทยมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์  โดยแบ่งเป็นในประเภทรถบรรทุกเพิ่มสูงขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรถโดยสารสแกนเนีย มียอดเพิ่มสูงขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ โดยยอดขายรถบรรทุกอยู่ที่ 472 คัน และรถบัสจำนวน 137 คัน รวม 609 คัน  นอกจากนี้การให้บริการหลังการขายของสแกนเนียก็มียอดเติบโตเพิ่มสูงขึ้นถึง 25% ด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกถึงความพึงพอใจของลูกค้าในการให้บริการของสแกนเนีย

ปัจจัย 3 ข้อ ที่ทำให้สแกนเนียเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ก็คือ 1. ทีมงาน ที่มุ่งเป้าไปที่การบริการลูกค้า ด้วยการเสริมสร้างทีมด้วยองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้สามารถดูแลลูกค้าในเรื่องการดูแลและซ่อมบำรุง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้ลูกค้า และการลดการ break down  2. คุณภาพของสินค้า เครื่องยนต์ของสแกนเนียมีจุดเด่นในเรื่องของการประหยัดน้ำมัน ทนทาน รวมถึงความง่ายต่อการใช้งานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  3. Repair & Maintenance Contract ที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้เป็นอย่างดี และในปลายปีนี้ สแกนเนียได้เตรียมพร้อมเปิดโรงงานประกอบรถบรรทุกและรถบัสโดยสารอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อรองรับจำนวนการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” 

ในปีนี้สแกนเนียได้ขยายสาขารองรับจำนวนรถสแกนเนียในตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยเปิดสาขาที่จังหวัดสมุทรสาคร สแกนเนียคาดว่าในปี 2018 จะเพิ่มยอดขายสำหรับรถบรรทุกได้ที่ 650 คัน และรถบัสโดยสาร จำนวน 140 คัน โดยยังคงเน้นนโยบายในเรื่องของการให้บริการหลังการขายเป็นสำคัญ 

สแกนเนียพยายามที่จะทำให้รถที่ลูกค้าแต่ละรายซื้อได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงพัฒนาความรู้ให้กับทีมงานเพื่อที่จะได้สามารถดูแลลูกค้าหลังการขายได้ดี และรวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น 

ในส่วนของการแข่งขัน Scania Top Team นายภูริวัทน์  รักอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภูมิภาค บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวว่า “การแข่งขัน  Scania Top Team เป็นกิจกรรมแข่งขันวัดประสิทธิภาพทีมบริการหลังการขาย ในการตรวจวิเคราะห์และแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถสแกนเนีย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 ในระดับนานาชาติ โดยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะของบุคลากรฝ่ายบริการของสแกนเนีย เพิ่มความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องมือที่ถูกต้องในการทำงาน วัดประสิทธิภาพของทีมช่าง รวมถึงฝึกทักษะความรู้และเทคโนโลยี ความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จำเป็น มุ่งเน้นไปที่การดูแลลูกค้า เป็นนโยบายเป้าหมายสูงสุดในการฝึกอบรมของสแกนเนียทั่วโลก โดยเป้าหมายสูงสุดสำหรับการฝึกอบรมทีมงานสแกนเนียทั่วโลก คือ การให้บริการที่ดีมีคุณภาพ รวดเร็ว ที่จะช่วยให้ยานพาหนะของลูกค้ามีความพร้อมในการวิ่งงานสูงสุด"

Scania Top Team ยังเป็นเวทีกิจกรรมที่สำคัญในการส่งเสริมด้านทักษะความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงลดปัญหาสิ่งแวดล้อม กิจกรรมการแข่งขัน  Scania Top Team มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 8,000 คนจากกว่า 70 ประเทศ โดยแต่ละประเทศที่จัดการแข่งขัน จะมีการทดสอบในเชิงทฤษฎี และการปฏิบัติที่เกี่ยวกับงานด้านบริการ

สำหรับประเทศไทยมีทีมสมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทุกสาขาของสแกนเนียทั่วประเทศถึง 14 ทีม ซึ่งมี 5 ทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ โดยจะแข่งขันกันเพื่อค้นหาสุดยอดทีม ที่จะเป็นตัวแทนไปแข่งระดับประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนกันยายน 2561 และแข่งรอบชิงชนะเลิศรอบสุดท้ายในเดือนธันวาคม ที่ประเทศสวีเดนต่อไป

ด้านนายสถิตย์  ริยะตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการหลังการขาย  บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด กล่าวว่า “ในปีนี้สแกนเนีย พร้อมให้บริการลูกค้าด้วย ระบบบริหารจัดการฟลีตรถ หรือ Fleet Management System (FMS) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟลีตรถลูกค้า ซึ่งลูกค้าสามารถทราบได้ว่ารถแต่ละคัน ของลูกค้า ณ ขณะนั้นวิ่งงานอยู่ที่ใด อัตราการใช้เชื้อเพลิงเป็นอย่างไร พฤติกรรมการขับขี่เป็นอย่างไร สามารถนำผลมาวิเคราะห์ปรับปรุง เพื่อพัฒนาในการขับขี่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน บริษัทฯ สามารถใช้เทคโนโลยีในระบบนี้เข้าไปดู เพื่อเตรียมเครื่องมือและอะไหล่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ให้รถลูกค้ามีความพร้อมสามารถกลับไปวิ่งงานได้อย่างรวดเร็วที่สุด"

นอกจากนี้ยังมี แผนการซ่อมบำรุงรักษาเพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพหรือ Scania Maintenance with Flexible Plans (Flex) เป็นแผนการให้บริการ ที่จะช่วยให้รถของลูกค้ามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เป็นแผนงานบริการที่ออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจง ให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานของรถในแต่ละคัน ด้วยการนำข้อมูลจากรถบรรทุกและข้อมูลการรับบริการที่แม่นยำ ตลอดจนเก็บข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ เช่น ลักษณะเส้นทาง ความถี่ในการติดเครื่องยนต์และดับเครื่องยนต์ ที่มีผลต่อแผนการบำรุงรักษาที่จำเป็นกับรถในแต่ละคัน มาวางแผนการบำรุงรักษา และปรับให้เข้ากับรถในแต่ละคัน เพื่อให้เหมาะกับลักษณะธุรกิจของลูกค้า สามารถลดช่วงเวลาการบำรุงรักษาในแต่ละครั้งให้สั้นลง เปลี่ยนชิ้นส่วนเฉพาะที่จำเป็น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ ลักษณะการใช้งาน สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ

ระบบจะเก็บข้อมูลและคำนวณเป็นแบบ Real Time ซึ่งทำให้มีความแม่นยำของข้อมูลที่สูงมาก โดยระบบดังกล่าวได้มีการติดตั้งให้กับรถรุ่นใหม่ทุกคันโดยไม่ต้องซื้อบริการเพิ่มเติม ส่วนรถสแกนเนียรุ่นเดิมที่ยังไม่ได้มีการติดตั้งระบบนี้ สามารถเข้ามานำรถเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมได้เช่นกัน
นายสถิตย์ กล่าวต่อว่า “สำหรับลูกค้าที่ทำสัญญาซ่อมและบำรุงรักษา หรือ Repair and Maintenance Contract (R&M) กับสแกนเนีย สามารถรับบริการแผนการบำรุงรักษา เพื่อการใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ (Flex) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเอาเวลาที่จะต้องดูแลรถ ไปบริหารธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และปล่อยหน้าที่ดูแลรถให้กับเราทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและผลกำไรของลูกค้าให้อย่างยั่งยืนต่อไป”