เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ เราไม่รอช้าที่จะติดต่อขอแวะเข้าพูดคุยกับสยาม ไวน์เนอรี่ ถึงรถบรรทุกของพวกเขาที่ออกแบบสร้างสรรค์ได้อย่างโดดเด่น

คุณประยุทธ์ ว่องไว Deputy Director of Supply Chain ของสยาม ไวน์เนอรี่ คือคนที่จะมาเล่าความถึงที่มาที่ไปของรถถังไม้โอ๊ค Asian Trucker เดินทางไปยัง Head Office ของสยามไวน์เนอรี่ที่ย่านดอนเมือง

คำถามแรกที่เราถามคุณประยุทธ เมื่อเจอกันคือที่มาที่ไปของรถถังไม้โอ๊ค คุณประยุทธเล่าให้ฟังว่า “เริ่มจากผู้บริหารของสยาม ไวน์เนอรี่ในตอนนั้นคือคุณแดลเนี่ยล ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่ Red Bull อยู่ในยุโรป คุ้นเคยและเห็นรถบรรทุกที่มีลักษณะเฉพาะมาก่อน เป็นคนริเริ่มจุดประกายความคิดให้กับทีมงานในบริษัท แต่เราก็ไม่ได้เริ่มทำในทันที ตอนหลังเราหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องรถเพิ่มเติม เราก็พบรถลักษณะคล้ายๆ แบบที่เราอยากทำหลายที่ และคิดว่ามันน่าจะช่วยเรื่อง Branding ของเราได้ด้วย อีกทั้งตอนนั้นเรากำลังจะเพิ่มฟลีทรถของเราพอดี เราจึงคิดว่าทำไมเราไม่ทำดีไซน์ที่มันเฉพาะขึ้นมาให้กับรถของเราอย่างจริงจัง ประจวบกับช่วงเวลานั้นเรากำลังทำเรื่อง World of wine พอดี เราเริ่มจริงจังกับไวน์มากขึ้น สำหรับในเมืองไทยเรื่องการทำโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันค่อนข้างยาก เราคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่มันเป็น Attractive ให้คนที่พบเห็นสงสัยว่าเอ๊ะนี่รถอะไร เราก็เลยคิดกันว่างั้นทำรถเป็นรูปถังโอ๊คดีไหม เพราะถังโอ๊คมันบ่งชี้เรื่องไวน์ได้ดีที่สุด เลยตัดสินใจทำรถที่มีรูปร่างแบบนี้ขึ้นมา”

เมื่อตกลงใจได้ว่ารถในฟลีทของบริษัทที่จะเพิ่มใหม่นั้นจะทำภายใต้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์ สามารถเกิดประโยชน์ในสองทาง ทั้งเพื่อการขนส่ง และเป็นตัวแทนของแบรนด์ สยาม ไวน์เนอรี่จึงตัดสินใจทำรถบรรทุกที่มีลักษณะของถังไม้โอ๊คอยู่ด้านท้ายจำนวนสามคัน ซึ่งออกแบบโดยทีมงานของบริษัท ส่งให้ผลิตบริษัทแครี่บอย เป็นผู้ดำเนินการผลิต เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตก็มีการปรับบางส่วนอีกเล็กน้อย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตและใช้งานจริงได้

เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ในด้านการขนส่งของรถนั้นงานหลักคือขนส่งเครื่องดื่มของสยาม ไวน์เนอรรี่ ตัวสินค้าประเภทไวน์ของบริษัททั้งไวน์แดงและขาว ที่โรงงานผลิตมีการเก็บโดยควบคุมอุณหภูมิอย่างดี เมื่อต้องขนส่งไปยังปลายทางก็ควรจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิด้วย พื้นที่ในถังไม้โอ๊คจึงถูกออกแบบมาเป็นห้องเย็นที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้

ตัวรถที่ถูกเลือกนำมาเป็นฐานสำหรับติดตั้งถังไม้โอ๊คคือ อิซูซุ กระบวนการในการคิดนั้นทำไปพร้อมกันทั้งการออกแบบส่วนบรรทุกทางด้านท้ายและการคัดเลือกรถที่จะมาติดตั้งประกอบให้เป็นชิ้นเดียวกัน

คุณประยุทธ์เล่าให้ฟังว่า “สำหรับตัวแบบนั้น ทางแครี่บอยเป็นคนปรับดีไซน์ให้เรา เพื่อให้สามารถใช้งานได้จริง ปรับจากดีไซน์ตั้งต้นที่เริ่มจากทีมงานของสยาม ไวน์เนอรี่”

รถบรรทุกทั่วไป รถโฟล์ค ลิฟท์ สามารถขึ้นดันสินค้าเข้าไปด้านในได้ แต่เนื่องจากงานออกแบบที่เป็นทรงโค้งด้านนอก ทำให้พื้นที่ห้องเย็นด้านในที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีขนาดเล็กลง รถโฟล์ค ลิฟท์ ไม่สามารถเข้าได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างรางเลื่อนที่พื้นสำหรับเคลื่อนพาเลทเข้าไปด้านในได้โดยสะดวก การที่มีรูปทรงของพื้นที่เก็บของแบบนี้ ทำให้ขีดความสามารถในการบรรจุสินค้าลดลง โดยสามารถบรรจุสินค้าได้น้อยกว่ารถบรรทุกปกติทั่วไปประมาณ 1.5 ตัน

เราสงสัยว่ารถบรรทุกที่มีหน้าตาเช่นนี้ เมื่อบริษัทสยาม ไวน์เนอรี่ นำวิ่งขนส่งสินค้าบนพื้นที่สาธารณะมีผลตอบรับอะไรกลับมาบ้าง คุณประยุทธ์ บอกว่า “ก็มีนะครับลูกค้าที่ไปเห็นรถของเรา พอมาที่ออฟฟิศก็ชมว่ารถสวย มาถึงขอถ่ายรูปกับรถ อย่างน้อยก็ Asian Trucker ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เห็นรถแล้วมาพูดคุยกับเรา” แน่นอนปฏิเสธไม่ได้เลยเพราะรูปโฉมของมัน 100 % เลยที่นำเรามายังสยาม ไวน์เนอรี่ คุณประยุทธ์กล่าวว่า “รถสามคันนี้เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ขององค์กรส่วนหนึ่ง และเพื่อการขนส่งส่วนหนึ่ง คันแรกเสร็จเรานำมาใช้งานในปี 2555 เริ่มใช้วิ่งขนส่งเลย ปีนั้นบริษัทฉลองครบรอบ 25 ปีพอดี เราจัดงานที่เมืองทองธาณี เอารถไปจอดไว้ ปรากฏว่ามีคนให้ความสนใจมาถ่ายรูปกับรถกันเยอะมาก”

ระบบโลจิสติกส์ ของสยาม ไวน์เนอรี่

Asian Trucker สอบถามคุณประยุทธ์ถึงระบบขนส่งของสยาม ไวน์เนอรี่ คุณประยุทธ์เล่าให้ฟังว่า ตัวงานนั้นจะแบ่งออกเป็นสองส่วน หนึ่งคืองานขนส่งองุ่น ซึ่งจะมีตารางงานที่แน่นอนชัดเจนอยู่แล้ว ตามฤดูกาลปลูกและเก็บเกี่ยว ฝ่ายขนส่งจะรู้เลยว่าเก็บเกี่ยวจะเดือนไหนวันไหนซึ่งทำให้บริหารจัดการได้ อีกส่วนหนึ่งคือการขนส่งสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งสินค้าของสยาม ไวน์เนอรี่จะมีช่วงเวลาที่ค่อนข้างชัดเจน จะขายเป็นพีเรียด เป็น Season (ช่วงเทศกาลขายเยอะ เข้าพรรษาขายน้อย) ทำให้สามารถวางแผนในการจัดการเรื่องขนส่งได้ งานขนส่งนั้นนอกจากสยาม ไวน์เนอรี่จะมีฟลีทรถเป็นของตัวเองแล้ว ยังใช้ Out Source ในการขนส่งด้วย ร่วมกับการใช้เอเย่นต์ช่วยขนส่ง การดึงซัฟพลายเออร์มาช่วยขนส่งด้วย เป็นการบริหารจัดการเรื่องระบบโลจิสติกส์อย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการผลิต ฟลีทของสยาม ไวน์เนอรี่มีรถทั้งหมด 45 คัน มีตั้งแต่รถสี่ล้อ สี่ล้อปิ๊กอัพ จนถึงรถหกล้อ สินค้าที่ต้องกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ในแต่ละปีมีจำนวนอยู่ประมาณแปดล้านลัง

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ระบบขนส่งของสยาม ไวน์เนอรี่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

คุณประยุทธ์ กล่าวว่า “สำหรับ สยาม ไวน์เนอรี่ ต้องบอกเลยว่า เราได้พาร์ทเนอร์ Logistic ที่ดี ทำงานกับเรามานาน มีความยืดหยุ่นต่อกัน ช่วงที่วิฤกตที่สุดของระบบขนส่งคือช่วงปลายปี ซึ่งช่วงนั้นความต้องการสินค้าจะสูงมาก เราต้องบริหารรถ ระบบขนส่ง ใช้ทั้งฟลีทของเราเอง และ Out Source เป็นช่วงที่เราใช้รถมากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่พนักงานของเราทำงานเต็มที่ เรียกได้ว่าไม่มีการหยุดขนส่งเลย พนักงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานของเรามีประสิทธิภาพ”

Asian Trucker อดที่จะถามไม่ได้ว่า สยาม ไวน์เนอรี่บริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างไร โดยเฉพาะกับพนักงานขับรถ คุณประยุทธ์กล่าวว่า “เรามีการอบรมพนักงานก่อนที่จะบรรจุเข้าทำงาน แม้แต่เข้าทำงานไปแล้วเราก็ยังมีการอบรมเพิ่มเติมอยู่สม่ำเสมอ ขับรถอย่างถูกวิธี อมรบเรื่องมารยาท เพราะเราเห็นว่า พนักงานขับรถเป็นหน้าเป็นตาของบริษัท เขาเป็นผู้ที่เข้าถึงลูกค้าโดยตรง ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องมี Service Mind พนักงานที่นี่ส่วนใหญ่อยู่กับบริษัทมายาวนาน ทุกคนรักองค์กร เราใส่ใจทุกส่วนตั้งแต่รถดี คนขับดี ระบบดี ด้วยเหตุนี้ผลงานที่ได้จึงดี”

Logistic ของสยาม ไวน์เนอรี่ มีการออกแบบ ERP ของตนเองเพื่อใช้ภายใน ทำให้สามารถจัดสายรถ วางแผนการขนส่ง ตรวจสอบการทำงาน ทำให้คนทำงานสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ

รถบรรทุกที่มีรูปแบบไม่ธรรมดาคันหนึ่ง มันมิได้ทำหน้าที่แต่เพียงขนส่งแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น มันยังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้กับองค์กรด้วย เพราะมันเดินทางอยู่บนท้องถนนผ่านไปตามสถานที่ต่างๆ มีผู้คนมากมายได้เห็นมัน แน่นอนว่าสำหรับ Asian Trucker เรามั่นใจว่ารถ Truck ทั้งสามคันของสยาม ไวน์เนอรี่ได้ทำหน้าที่นั้นแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ